อาหารทะเล อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega 3) และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย อาหารทะเลมีรสชาติที่โดดเด่นแตกต่างจากเนื้อสัตว์บกหรือปลาน้ำจืด หลายคนจึงชื่นชอบอาหารประเภทนี้ ในปัจจุบันร้านอาหารทะเลนั้นพบได้ทั่วไป ทำให้การบริโภคอาหารทะเลทำได้ง่ายขึ้น หากรับประทานอย่างเหมาะสมอาจช่วยให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แต่ในทางกลับกันหากรับประทานมากหรือบ่อยจนเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยในบทความนี้มีเคล็ดลับดี ๆ ในการเลือกรับประทานอาหารทะเลอย่างปลอดภัยมาฝากกัน

 

อาหารทะเล กินอย่างปลอดภัย ห่างไกลโรค

ประโยชน์ของ อาหารทะเล และการเลือกซื้ออย่างปลอดภัย
อาหารทะเลนั้นมีสารอาหารหลายชนิดที่พบได้น้อยหรือหาไม่ได้เลยจากในอาหารปกติ โดยสัตว์ทะเลแต่ละชนิดก็มีสารอาหารที่โดดเด่นแตกต่างกัน ดังนี้

 

ปลาทะเล

ปลาทะเลอย่างปลาทู ปลาอินทรี ปลากะพง ปลาแซลมอน และปลาทูน่า เป็นอาหารทะเลที่มีสารอาหารคุณภาพดีหลายชนิด โดยเฉพาะโปรตีนและกรดไขมันที่มีประโยชน์ แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คงเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 เนื่องจากพบได้น้อยในเนื้อสัตว์ปกติ โอเมก้า 3 ยังแบ่งออกได้เป็นกรดไขมันดีเอชเอ (DHA) และอีพีเอ (EPA)

 

คนไทยเชื่อกันว่าการรับประทานปลาอาจช่วยให้ฉลาดขึ้น ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ชี้ว่าการรับประทานปลาทะเลอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมอง มีส่วนในการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ ป้องกันโรคสมองเสื่อม นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดระดับไขมันชนิดที่เป็นอันตรายภายในร่างกาย ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย

 

วิธีการเลือกปลาทะเลให้ปลอดภัยมีดังนี้

ปลาควรมีกลิ่นคาวเล็กน้อยตามธรรมชาติ และควรหลีกเลี่ยงปลาที่มีกลิ่นผิดปกติ อย่างกลิ่นคาวรุนแรง มีกลิ่นเปรี้ยว หรือมีกลิ่นฉุนคล้ายแอมโมเนีย
ตาของปลาควรมีลักษณะใส ไม่ขุ่น
เนื้อสัมผัสของปลา ควรให้ความรู้สึกแน่น ไม่เละ
เนื้อปลาไม่ควรมีสีคล้ำ เปลี่ยนสี หรือดูแห้งกว่าปกติ
นอกจากนี้ การบริโภคปลาทะเลให้ดีต่อร่างกาย ควรรับประทานปลาทะเลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และปรุงสุกด้วยการต้ม นึ่ง อบ หรือย่าง หากต้องการรับประทานปลาดิบ ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและไม่บ่อยจนเกินไป

 

 

กุ้ง ปู และหอย

สัตว์มีเปลือก (Shellfish) จากทะเลมีปริมาณโปรตีนสูงและไขมันต่ำ โดยเฉพาะปูและกุ้ง อาหารทะเลประเภทนี้จึงเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีและมีคุณภาพเมื่อรับประทานอย่างเหมาะสม สัตว์ทะเลมีเปลือกเหล่านี้ยังเป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญ อย่างไอโอดีน (Iodine) ที่จำเป็นต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์และสมอง วิตามินบี 12 ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจ สังกะสีช่วยให้ระบบภูมิต้านทานทำงานได้เป็นปกติ นอกจากนี้ สัตว์ทะเลมีเปลือกบางชนิดยังมีสารแอสตาแซนทิน (Astaxanthin) หรือสารสีส้มที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยสารชนิดนี้จะช่วยยับยั้งและชะลอการเสื่อมของเซลล์ที่มีสาเหตุจากสารอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคบางโรค

 

วิธีการเลือกสัตว์มีเปลือกให้ปลอดภัยมีดังนี้

กุ้ง ปู และหอย ควรมีลักษณะสด มีเปลือกที่ดูใส มีกลิ่นคาวเล็กน้อยหรือไม่มีกลิ่นเลย
ควรเลือกตัวที่ดูสดและยังมีชีวิต อาจสังเกตได้จากขาหรือหนวดที่ขยับได้ของกุ้งและปู หรือฝาหอยที่ปิดเมื่อใช้นิ้วแตะ
หลีกเลี่ยงการซื้อหอยที่เปลือกมีรอยร้าวหรือแตก

 

ปลาหมึก

ปลาหมึกเป็นอาหารทะเลอีกชนิดที่คนชื่นชอบ แต่ก็มีความเชื่อว่าปลาหมึกนั้นมีคอเลสเตอรอลในปริมาณมากและส่งผลให้ไขมันในเลือดสูงหากรับประทานมากเกินไป แต่ในปลาหมึกก็ยังมีไขมันดีอย่างโอเมก้า 3 ที่อาจช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลได้ ดังนั้น การบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ปรุงด้วยวิธีการย่าง ต้ม หรือนึ่งแทนการทอดก็อาจช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลและรักษาสมดุลของคอเลสเตอรอลในเลือดได้ นอกจากนี้ ปลาหมึกยังเป็นแหล่งของโปรตีนไม่ต่างจากสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ โดยโปรตีนจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายและช่วยเสริมกระบวนการเจริญเติบโต